กันเกรา ๑ ใน ๙ ไม้เสาเอกของไทย
ต้นกันเกรามีชื่อวิทยาศาสตร์คือ
Fagraea
fragrans Roxb. อยู่ในวงศ์ GENTIANACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อาจมีความสูงถึง
30 เมตร ใบมีสีเขียวอ่อนลักษณะเป็นรูปหอก ดอกมีกลิ่นหอม
เมื่อแรกผลิจะมีสีครีมจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ ผลมีลักษณะกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
0.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ภายในผลมีเมล็ดเล็กๆ
จำนวนมาก พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบแหลมมาลายู เช่น
สิงคโปร์ และมาเลเชีย มีชื่อเรียกว่า ตำมูซู สำหรับประเทศไทยพบในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นมาก
ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มันปลา ภาคกลางเรียกว่า กันเกรา ภาคใต้
เรียกว่า ตำเสา ทำเสา ในขณะที่ชาวกัมพูชา เรียกว่า ตาเตรา ไม้กันเกราเป็นไม้เนื้อแข็ง
หนัก ปลวก มอด แมลงไม่ชอบกัดทำลาย นิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน โดยใช้ทำเสา รอด
กระดานพื้น วงกบประตู-หน้าต่าง ใช้ทำสะพานทางเดิน และยังสามารถนำมาทำเครื่องเรือน
เฟอร์นิเจอร์ เครื่องกลึง และปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้าน สวนหย่อม สวนสาธารณะ
อีกทั้งยังเป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับ ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง
ไผ่สีสุก ทรงบันดาล สัก และพะยูง ที่ใช้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ พิธียกเสาเอกไทย ซึ่งเป็นความเชื่อหนึ่งของคนไทย
นับตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันไม้กันเกราในธรรมชาติ จะไม่ค่อยพบเห็น
เนื่องจากเป็นไม้หายาก มีการรอดตายน้อยในธรรมชาติ มีปัญหาด้านการงอกของเมล็ดเนื่องจากเมล็ดกันเกรามีขนาดเล็กและมีเปลือกแข็งและเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้าในธรรมชาติ
และในที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำและมีแสงแดดจัด
แต่สามารถทนความแห้งแล้งได้ดีในสภาพดินปนทราย มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจในการปลูกสร้างสวนป่าทั้งเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจ
ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี
ลักษณะทั่วไปกันเกรา
กันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
เป็นไม้เนื้อแข็ง หนัก ปลวก และมอดแมลงไม่ชอบกัดทำลายขึ้นในที่ลุ่มบริเวณขอบพรุและพื้นที่น้ำขังชั่วคราว
มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค แต่พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย
ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่าตอนล่าง หมู่เกาะอันดามัน คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย
เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ถึงซีลีเบส
1.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์กันเกรา
กันเกราสามารถจำแนกลำดับชั้นทางวิทยาศาสตร์ ได้ดังนี้
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
Domain Eukaryota
Kingdom Plantae
Phylum Magnoliophyta
Class Magnoliopsida
Order Gentianales
Family Gentianaceae
Genus Fagraea
Species fragrans
1.1
ลำต้น
กันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบในช่วงระยะเวลาอันสั้น สูง 10-25 เมตร
ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ เปลือกนอกหยาบสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
เปลือกในสีเหลืองอ่อน โคนต้นไม่เป็นพูพอน เรือนยอดเป็นรูปกรวยแหลมหรือรูปเจดีย์
1.2 ใบ ใบกันเกราเป็นชนิดใบเดี่ยว
ทรงใบรูปรี ๆ แกมรูปหอก กว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 8-11 เซนติเมตร
โคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลมหรือเป็นติ่งยาว เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นแผ่นหนัง
เกลี้ยง เส้นแขนงใบเห็นไม่ค่อยชัด พอสังเกตเห็นได้มี 8-10 คู่
1.3 ดอก ดอกกันเกราเมื่อบานมีสีขาว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองแก่
เมื่อดอกใกล้จะโรย กลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อบานกระจายตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเป็นรูปแจกันทรงสูง
เมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบฐานดอก 5 กลีบ
มีขนาดเล็กมาก ยาวไม่เกิน 0.3 เซนติเมตร
โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวถึง 2 เซนติเมตร
ภายในมีเกสรผู้ 5 อัน
อับเรณูจะยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่
รูปไข่อยู่เหนือโคนกลีบฐานดอกและกลีบดอก ภายในแบ่งเป็นสองช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนซึ่งติดอยู่ตรงส่วนกลางของผนังกั้นระหว่างช่องจำนวนมาก
หลอดท่อรังไข่จะยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกออกมามาก ปลายหลอดจะเป็นปุ่มบวมพอง คล้ายรูปดอกเห็ด
1.4 ผล ผลกลมเล็กวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
0.6 เซนติเมตร มีติ่งแหลมสั้น
ติดอยู่ตรงส่วนบนสุดของผล ผลแก่จัดจะออกสีเหลืองจนถึงสีแดงเลือดนก รสขม
ภายในมีเมล็ดเล็ก จำนวนมาก
2. การขยายพันธุ์กันเกรา
ไม้กันเกราสามารถขยายพันธุ์ ได้ดังนี้
2.1
การขยายพันธุ์วิธีอาศัยเพศด้วยการเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
นิยมทำด้วยวิธี การหว่านในกระบะเพาะ ที่บรรจุดินร่วนทรายละเอียด และแกลบเผา
หลังจากหว่านใช้ไม้กดทับให้เมล็ดฝังตัวและใช้ทรายละเอียดโรยกลบลงบางๆ โดยแปลงเพาะกันเกราโดยทั่วไปจะทำการเพาะในแปลงดินขนาดกว้าง
1 เมตรยาว 2-3 เมตร ตามปริมารกล้าไม้ที่ต้องการ หรือเพาะในกระบะ บรรจุดินร่วน
แกลบเผา และทรายละเอียด ที่ผ่านการตากแดดจนแห้งสนิทหรือหากท้องถิ่นใดมีขุยมะพร้าว
กระบะเพาะที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าวซึ่งจะเก็บความชื้นได้ดีกว่า
จะมีเปอร์เซ็นต์การงอกที่สูงกว่า เนื่องจากเมล็ดกันเกรามีขนาดเล็ก
และแปลงจะต้องมีหลังคาทำด้วยพลาสติกใสคลุมกันฝน
2.2
การขยายพันธุ์วิธีไม่อาศัยเพศด้วยการตัดชำราก การตัดชำรากจะทำได้สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเกิดตา
ซึ่งจะเป็นจุดกำเนิดต้นและราก การตัดรากจะเลือกรากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 – 1.2 เซนติเมตร
ความยาว 5. เซนติเมตร การตัดมักจะตัดตรง ๆ ต้นใหม่ค่อนข้างจะเกิดทางด้านโคนราก ในขณะที่การเกิดรากจะเกิดทางด้านปลายราก
และการเกิดต้นมักจะเกิดได้เร็วกว่าการเกิดราก
ดังนั้นการตัดชำรากของกันเกราจะค่อนข้างประสบความสำเร็จซึ่งเห็นได้จากการขุดคูน้ำ
มักจะพบต้นกล้ากันเกราขึ้นเป็นแถวตามคูน้ำซึ่งเกิดจากการตัดรากของกันเกราตอนขุดคูน้ำ
2.3 การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ผลสุกของกันเกรา พบว่านกและค้างคาวชอบกินเป็นอาหาร
มีผลทำให้เมล็ดไม้กันเกรามีโอกาสกระจายพันธุ์ได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่น ทั้งนี้เพราะเมื่อนกหรือค้างคาวถ่ายจะมีเมล็ดกันเกราปนออกมา
หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ นอกจากนี้ไม้กันเกราเป็นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ
คือ สามารถแตกหน่อได้ แม้ว่าต้นจะมีขนาดใหญ่หรืออายุมากแล้วก็ตามโดยที่ตอ 1 ตอ สามารถให้หน่อได้หลายหน่อ
ซึ่งจะพุ่งตัวได้ดีกว่าต้นกล้าที่เกิดจากเมล็ด รวมทั้งรากของไม้กันกันเกราสามารถแผ่ได้ไกล
เมื่อรากถูกขุดหรือตัดขาดจะแตกตาขึ้นหน่อใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการขุดคูน้ำ ที่จะมีต้นกันเกราขึ้นเป็นแถวตามแนวคู
ประโยชน์ของกันเกรา
1. กันเกรากับความเชื่อของคนไทย
ชนชาติไทยมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆที่ปฏิบัติ และ สืบทอดกันต่อมา บางอย่างมีหลักเกณฑ์
และเหตุผลที่ชัดเจน บางอย่างเป็นเพียงความเชื่อ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
การยึดถือเอาพันธุ์ไม้ เป็นสื่อ เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับความรัก ความสุข
ความทุกข์ ความสูญเสีย และการ พลัดพราก เพราะชื่อของพันธุ์ไม้ เพราะลักษณะของพันธุ์ไม้
เป็นธรรมเนียมความเชื่อที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด เรื่องของไม้มงคล
และไม้ต้องห้ามนานาชนิด ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
1.1 ความเชื่อไม้มงคลของไทย ชาวไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลมาตั้งแต่อดีตกาล
คือเชื่อว่า ต้นไม้สามารถเสริมสร้างสิริมงคลและอำนวยโชคลาภให้ได้ เพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคติและพิธีกรรมที่ยึดถือสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเท่านั้น
คติความเชื่อเรื่องไม้มงคล
เป็นความเชื่อที่ผนวกเอาเรื่องของเทพยดาและสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติมาผูกพันกับต้นไม้
บางครั้งมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพิธีด้านไสยศาสตร์ของฝ่ายพราหมณ์ที่ชาวไทยยอมรับนับถือ
และได้นำมาประยุกต์รวมกับพิธีทางฝ่ายพุทธปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ อาทิ
การปลูกบ้าน การตั้งศาลพระภูมิ การทำขวัญ การโกนจุก การบวงสรวง และการวางศิลาฤกษ์
กันเกราเป็นไม้มงคลประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีความหมายถึง การได้รับการปกป้องคุ้มภัยอันตรายต่างๆ
ทำให้บุตรหลานบริวารผู้อยู่อาศัยว่านอนสอนง่าย ไม่มีทิฐิ ดื้อรั้น ไม่โลภ
ไม่มัวเมากับสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย
ไม้มงคลตามคติความเชื่อของชาวไทยมีตั้งแต่ไม้ยืนต้นจนถึงวัชพืช
อาจจัดกลุ่มของความเป็นมงคลได้ดังนี้
1.1.1 มงคลนามหรือชื่อเป็นมงคล
1) ชื่อตรงกับสิ่งที่เป็นมงคล
เช่น ใบเงิน ใบทอง ใบนาก และใบทับทิม
2)
ชื่อมีความหมายเป็นมงคลหรือมีเสียงพ้องกับคำที่เป็นมงคล เช่น ยอ มะขาม มะยม รัก
พยุง (พะยูง) สัก(เสียงเหมือน ศักดิ์) ชัยพฤกษ์สีสุก (เสียงพ้องกับคำ ศรีสุข) และพุทธรักษา
1.1.2 มีประวัติอันเป็นมงคล เช่น เป็นต้นไม้ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ
ได้แก่ บัว โพธิ์สาละ เกด ฯลฯ เป็นต้นไม้ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าฝ่ายพราหมณ์ เช่น มะตูม
มะม่วง มะเดื่อ หญ้าคา และหญ้าแพรก เป็นต้น
1.1.3 มีคุณสมบัติ สรรพคุณ
เป็นประโยชน์และเป็นมงคล ดังนี้
1) ธัญพืชหรืออาหาร
หมายถึง ความเจริญงอกงามและความสุขสมบูรณ์ ได้แก่ ถั่ว งา กล้วย อ้อย (จั่น) หมาก
และ (จั่น) มะพร้าว ฯลฯ
2) มีสรรพคุณทางยารักษาโรค ได้แก่ ส้มป่อย สะเดา
สมอ มะกรูด ฯลฯ
3) มีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ มะลิ พุด จันทน์
4) มีสีเป็นมงคล
คือไม้ดอกที่มีสีถูกโฉลกตามวัน ซึ่งประกอบพิธี เช่น ดาวเรืองสีเหลือง ดอกกุหลาบสีแดง
ดอกพุดสีขาว เป็นต้น
5) ได้รับการอุปโลกน์
ให้เป็นสัญลักษณ์ของบุคคลอันเป็นที่เคารพยกย่อง เช่น พุทธรักษา ดอกมะลิ ดอกแก้ว
เจ้าจอม ดอกลำดวน เป็นต้น
1.2 ความเชื่อการยกเสาเอกบ้านเรือนของคนไทย ไม้กันเกราเป็นไม้อันดับที่
7 ที่ใช้ตอกเข็มฤกษ์ 1 ใน 9 ได้แก่ ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้สัก ไม้ไผ่สีสุก
ไม้พะยูง ไม้ทองหลาง ไม้กันเกรา ไม้ทรงบันดาล และไม้ขนุน ไม้มงคลเหล่านี้จะลงอักขระที่เรียกว่า
หัวใจพระอิติปิโส ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ลงบนท่อนไม้ชนิดละ 1 อักขระ
พร้อมทั้งปิดทองทั้ง 9 ท่อน โดยปักวนจากซ้ายไปขวา (ทักษิณาวรรต)
ก่อนจะมีการยกเสาเอก และมีฤกษ์เสาเข็มเอกที่ใช้ในการเริ่มตอกเข็มต้นแรก โดยพราหมณ์หรือซินแส
จะเป็นผู้กำหนดว่าจะตอกจุดไหนเป็นจุดแรก ในทางโหราศาสตร์ เรียกฤกษ์นี้ว่า
ฤกษ์กระทบดิน ในอดีตการสร้างบ้านเรือนนั้นยังไม่มีการตอกเสาเข็มเหมือนในปัจจุบัน
เจ้าบ้านทำเพียงแค่พิธียกเสาเอก โดยให้พราหมณ์ หรือ บิดามารดาเป็นผู้ยกเสาเพื่อความเป็นสิริมงคล
1.3 ความเชื่อพิธีกรรมทางศาสนา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยโบราณ
ได้นำดอกกันเกรามาบูชาพระ โดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือ
เดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาค พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้
ก็คือ ดอกมันปลา หรือดอกกันเกรา
จุดเริ่มต้นขบวนอยู่ที่วัดจากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนน
บ้านเรือนท้องไร่ท้องนาเพื่อไปเก็บดอกมันปลามาบูชาพระ พร้อมที่จะเข้าพิธีอุปสมบท
และนำช่อดอกมันปลาที่เก็บมาในขบวนแห่จุ่มน้ำ แล้วสะบัดให้น้ำจากดอกมันปลาไปสรงพระพุทธรูปบูชาเพื่อขอพร
แต่พิธีกรรมดังกล่าวในปัจจุบันนี้ไม่มีอีกแล้ว อาจเป็นเพราะต้นกันเกรามีน้อยลง เนื่องจากเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้า
ประกอบกับการลักลอบตัดไม้
แม้ว่าไม้กันเกราจะเป็นที่ต้องการจากผู้ลักลอบน้อยกว่าไม้พะยูงก็ตาม
2.
สรรพคุณด้านสมุนไพร
2.1 ใบ รสขม ขับระดูขาว แก้นิ่ว
ขับปัสสาวะ แก้หืด บำรุงธาตุ ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ บำรุงโลหิต แก้อาการนอนไม่หลับ
แก้โรคกำเดา แก้พยาธิ แก้บิด พอกฝีมะม่วง รักษาโรคผิวหนังพุพอง
2.2 ดอก รสขม เป็นยาระบาย เป็นนอนหลับ
แก้หืด ล้างศีรษะแก้รังแค แก้โรคประสาท ช่วยเจริญอาหาร
และลดอาการตื่นเต้นทางประสาท
2.3 เปลือก รสมัน ฝาดขม บำรุงโลหิต
แก้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังและร่างกาย บำรุงร่างกาย
2.4 ราก รสขม บำรุงธาตุ แก้บิด
แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ รักษาแผลกามโรค ช่วยระงับอาการชัก
2.5 กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้กระษัยเส้นเอ็น
ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย
2.6 ผลหรือฝัก รสขม แก้ไข้เพื่อเสมหะ
และแก้ไข้พิษเพื่อเอ็นตึง
2.7
แก่น รสขมฝาดเฝื่อน บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงไขมัน เป็นยาอายุวัฒนะ
แก้ไข้จับสั่น แก้กามโรค แผลฝี ขับน้ำคาวปลา ถ่ายพิษ แก้กระษัย ขับโลหิต
แก้เหน็บชา แก้ท้องผูก ใช้เป็นยาระบาย ชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว
3. การใช้ประโยชน์ทั่วไป
3.1 การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ลักษณะเนื้อไม้ละเอียด แก่นมีสีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เหนียว แข็งทนทาน จึงนิยมนำมาแปรรูปหรือใช้ทั้งท่อนซุง นำมาใช้ทำเสาเรือน และทำไม้กระดานสำหรับปูพื้น เครื่องเรือน สะพาน โครงเรือ เสากระโดงเรือ หมอนรองรางรถไฟ เฟอร์นิเจอร์ ยังให้ถ่าน ฟืน ที่ให้คุณค่าสูง
3.1 การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ลักษณะเนื้อไม้ละเอียด แก่นมีสีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เหนียว แข็งทนทาน จึงนิยมนำมาแปรรูปหรือใช้ทั้งท่อนซุง นำมาใช้ทำเสาเรือน และทำไม้กระดานสำหรับปูพื้น เครื่องเรือน สะพาน โครงเรือ เสากระโดงเรือ หมอนรองรางรถไฟ เฟอร์นิเจอร์ ยังให้ถ่าน ฟืน ที่ให้คุณค่าสูง
3.2 การใช้ประโยชน์ด้านประติมากรรม ได้รายงานถึงการใช้ประโยชน์ด้านประติมากรรม
ชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังนำไม้มันปลาหรือกันเกรา มาแกะพระพุทธรูปไม้ ทำเครื่องรางของขลังอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันมีผู้นิยมนำไม้มันปลาหรือกันเกราไปแกะสลักพระเครื่องไม้
3.3 การใช้ประโยชน์เป็นสีย้อม
พรรณไม้ที่มีคุณสมบัติให้สีใช้ย้อมเส้นใยได้นั้นมีหลากหลายชนิดส่วนใหญ่พบว่าเป็นไม้ยืนต้น
และส่วนที่ให้สีส่วนมากมาจากส่วนของเปลือก ใบ และผล
ตามลำดับและสีที่ได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีน้ำตาล สีเหลือง
ในการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากไม้กันเกราได้ใช้ส่วนของไม้กันเกราคือ เปลือกลำต้น
ใบ และผลสดมาใช้ประโยชน์ในการเป็นพืชให้สี ในการย้อมเส้นฝ้าย
ส่วนของกันเกรา
|
ก่อนการย้อม
|
ขณะที่ทำการย้อม
|
ล้างหลังการย้อม
|
สีที่ได้
|
เปลือกลำต้น
|
ไม่มี
|
จุนสี
|
สารส้ม
|
เหลือง
|
เปลือกลำต้น
|
ไม่มี
|
จุนสี
|
น้ำปูนใส น้ำสนิม
|
เขียวคล้ำ
|
ใบกันเกรา
|
ต้มน้ำใบยูคาฯ
|
ไม่มี
|
น้ำปูนใส
|
เหลือง
|
ผลกันเกราสด
|
ต้มน้ำใบยูคาฯ
|
ไม่มี
|
สารส้ม
|
ส้มอมชมพู
|
ที่มา : www.agri.ubu.ac.th (ม.ป.ป.)
3.4
การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ กันเกราเป็นไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอม
และรูปทรงเรือนยอดสวยงามจึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้าน ใช้ในการการจัดสวนขนาดเล็กได้เพราะโตช้าให้ร่มเงาตามสมควร สามารถตัดแต่งให้มีขนาดตามต้องการได้ อีกทั้งยังปลูกบริเวณสวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ
กันเกรากับระบบวนเกษตร
วนเกษตรเป็นระบบการใช้ที่ดินที่มีการปลูกต้นไม้ร่วมกับพืชเกษตรหรือปศุสัตว์
โดยมีการจัดการช่องว่างหรือจัดช่วงเวลาให้เหมาะสม โดยองค์ประกอบภายใน
ระบบมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมทั้งด้านนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจ
อันเป็นการใช้ที่ดินที่ผสมผสานความกลมกลืนให้เกิดขึ้นระหว่างไม้ยืนต้นกับกิจกรรมการเกษตรต่างๆ
ที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของที่ดิน องค์ประกอบของวนเกษตร
เนื่องจากระบบวนเกษตรเป็นการใช้ที่ดินร่วมกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่
ไม้ยืนต้น พืชเกษตร และอาจมีปศุสัตว์ร่วมอยู่ด้วยกันในพื้นที่เดียวกัน อย่างไรก็ดี
ไม้ยืนต้นถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญระบบวนเกษตร
ตัวอย่าง เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราร่วมกับไม้กันเกราในระบบวนเกษตร ปราโมทย์
(2555) ได้รายงานไว้ดังนี้
นายสวาท
ทองรักษ์ เกษตรกรอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่สวนยางพาราแบบวนเกษตรจำนวน 20 ไร่
เริ่มทำ สวนยางพาราแบบวนเกษตรอย่างจริงจังตั้งแต่ ปี2542
ปัจจุบันยางพาราอายุ 17 ปี ปลูกตะเคียนทอง พะยอม มะฮอกกานี
กันเกรา และยมหอมเป็นพืชร่วมยางพารา สำหรับตะเคียนทองมีความเหมาะสมเหมาะสมกับสภาพพื้นดังกล่าวเพราะขึ้นได้ดี
สำหรับเรื่องการปลูกไม้ร่วมยางจึงถือเป็นการออมเงิน สามารถสร้างเงินเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน
นายหมัดฉา หนูหมาน เกษตรกร ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ได้ปลูกพืชร่วมยางอีกหลายชนิด ทั้งพืชที่เป็นไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว และไม้หายาก
ได้แก่ สละอินโด ยางนา พะยอม ตะเคียนทอง และไผ่ตงลืมแล้ง มะฮอกกานี พะยูง ยางแดง
สาโรง เทพธาโร กันเกรา หลุมพอ ทุ้งฟ้า เหรง สัก หมากหมก จาปูลิง เนียง มะไฟ กล้วย
ตะไคร้หอม กระชายดา และชะพลู เป็นต้น
นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่บางส่วนในสวนเพาะและขยายพันธุ์ไม้ เช่น โกโก้ สมอ รางจืด
ผักหวานบ้าน และใช้ต้นไม้ปลูกเป็นรั้วของสวน ได้แก่ มะกอก ขี้เหล็ก และมะขาม
เพื่อที่จะเก็บผลผลิตไปจำหน่ายและบริโภค
ปัญหาของไม้กันเกรา
1.
ปัญหาด้านการงอกของเมล็ด
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการงอกของเมล็ด เมล็ดกันเกราเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กและมีเปลือกแข็ง
มีอัตราการรอดตายน้อยมากในธรรมชาติ โดยทั่วไปเมล็ดสามารถงอกได้เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญดังนี้
1.1 ความชื้นหรือน้ำ
เมื่อเมล็ดแก่มีน้ำอยู่ในเมล็ดน้อยการงอกจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าเปลือกหุ้มเมล็ดจะดูดน้ำเข้าไป
กระทั่งมีความชื้น 30-60 เปอร์เซ็นต์ จึงจะงอก น้ำทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว
ทำให้เมล็ดพองตัวและเกิดแรงดันทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดแตกออก เพื่อให้เอ็มบริโอออกมาได้น้ำช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาชีวเคมีต่างๆ
ในเมล็ด ได้แก่ ปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส การสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนต่างๆ
นอกจากนี้น้ำยังเป็นตัวทำละลายสารอื่นๆ
ที่สะสมในเมล็ดและเป็นการลำเลียงอาหารไปให้ต้นอ่อนใช้เพื่อในการงอกอีกด้วย
1.2 ออกซิเจน
มีความสำคัญต่อการงอกของเมล็ด เพื่อนำไปใช้ในการหายใจให้ได้พลังงาน
เมล็ดที่กำลังงอก จะมีอัตราการหายใจสูงกว่าปกติ เมล็ดจึงต้องการออกซิเจนในระหว่างที่งอก
พบในพืชบางชนิด เช่น พืชน้ำ สามารถงอกได้ในที่ออกซิเจนต่ำแต่ความชื้นสูง เมล็ดเหล่านี้ได้พลังงานจากการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน
ในสภาพธรรมชาติเมล็ดที่อยู่ในดินจะอยู่ในระยะพักตัวเป็นเวลานานยังไม่งอก
เนื่องจากออกซิเจนไม่เพียงพอจนกว่าจะได้รับไถพรวนทำให้เมล็ดได้รับออกซิเจนเกิดการงอกได้
เช่น เมล็ดวัชพืช
1.3 อุณหภูมิที่เหมาะสม
เมล็ดแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 0-45
องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่มีความเหมาะสมกับพืชส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 20-30
องศาเซลเซียส พืชเขตหนาวต้องการอุณหภูมิค่อนข้างต่ำในการงอก
พืชบางชนิดมีความต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกันในเวลากลางวันและกลางคืน
หรือให้อุณหภูมิสูงสลับอุณหภูมิต่ำ จึงจะเกิดการงอกได้ดี
1.4 แสง ตามปกติเมื่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ
เหมาะสม เมล็ดจะงอกในที่มืดและที่มีแสงเมล็ดบางชนิดต้องการแสงในการงอก เช่น ประดู่ป่า
แดง ชิงชัน เป็นต้น
2. ปัญหาด้านการพักตัวของเมล็ด
การพักตัวของเมล็ด
เป็นการที่เมล็ดไม่งอกในสภาพที่เหมาะสมกับการงอก
ทั้งที่เมล็ดยังมีความสามารถในการงอกอยู่ ผลดีของการพักเมล็ดคือ
ทำให้พืชมีชีวิตรอดผ่านสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ เมล็ดบางชนิดไม่สามารถงอกได้แม้อยู่ในสภาพเช่นนี้
เนื่องจากเมล็ดมีการพักตัว ซึ่งสาเหตุของการพักตัว แบ่งออกได้อย่างกว้างๆ คือ การพักเนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดหรือส่วนที่ห่อหุ้มต้นอ่อน
และการพักที่มีสาเหตุอยู่ภายในต้นอ่อนของเมล็ด เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกหนาและมีสารเคลือบมันบางชนิด
เช่น wax, cutin และ suberin เคลือบผิวชั้นนอกของเปลือกหุ้มเมล็ด
สาเหตุการพักตัวของเมล็ด เมล็ดสามารถพักตัวได้หลายสาเหตุ เช่น
2.1 เปลือกเมล็ดไม่ยอมให้น้ำซึมผ่าน
น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์ ที่มีการพักตัวแบบนี้เกิดจากเปลือกเมล็ดไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านเข้าไปในเมล็ด
ซึ่งอาจเกิดจากเปลือกที่มีโครงสร้างหนาแน่นมากหรือมีสารกันน้ำจำพวกขี้ผึ้งมาเคลือบเมล็ดไว้
หรืออาจทั้งสองลักษณะรวมกันเมื่อนำเมล็ดมาเพาะจึงไม่งอกและไม่สามารถดูดน้ำได้
ยังคงมีลักษณะเมล็ดที่แห้งและแข็งเหมือนเมล็ดแห้งธรรมดา
จึงเรียกเมล็ดพันธุ์ลักษณะนี้ว่า เมล็ดแข็ง
2.2 เปลือกหุ้มเมล็ดไม่ยอมให้อากาศผ่าน
การพักตัวของเมล็ดพันธุ์เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดไม่ยอมให้อากาศผ่าน ต่างจากเมล็ดแข็งคือ
เมล็ดเหล่านี้สามารถดูดน้ำได้เมื่อนำไปเพาะหรือได้รับน้ำ
แต่ยังคงสดเต่งอยู่โดยไม่งอก แต่ถ้าลอกเอาส่วนเปลือกออก
เมล็ดเหล่านี้จะสามารถงอกได้ทันที การที่เมล็ดดูดน้ำแล้วไม่งอก
เนื่องจากการขาดออกซิเจน และสามารถงอกได้เมื่อนำเมล็ดไปไว้ที่มีแรงดันออกซิเจนสูง
2.3 การพักตัวรวม
เมล็ดพันธุ์บางชนิดมีการพักตัวมากกว่าหนึ่งสาเหตุที่พบในพันธุ์พืชหลายชนิดเป็นการพักตัวเนื่องจากเปลือกเมล็ดไม่ยอมให้น้ำผ่านเข้าเมล็ด
กับการพักตัวของต้นอ่อน
เมล็ดพันธุ์พืชดังกล่าวจึงต้องการแก้การพักตัวมากกว่าหนึ่งวิธี คือ
การแก้การพักตัวเนื่องจากส่วนของเปลือก เพื่อให้เมล็ดดูดน้ำได้
จากปัญหาการพักตัวของเมล็ด
จึงทำให้เมล็ดงอกช้า มีการงอกไม่สม่ำเสมอและใช้ระยะเวลานานในการงอก นอกจากกันเกราจะมีปัญหาเรื่องการพักตัว
แล้วยังประสบปัญหาในเรื่องของเชื้อราที่เข้ามาทำลาย เมล็ดส่งผลทำให้เมล็ดเป็นโรคโคนเน่า
ซึ่งเชื้อรานี้ติดมากับเมล็ด ดินและวัสดุปลูก น้ำที่ใช้รด และจากถาดที่ใช้เพาะกล้า
3.
ปัญหาด้านการเจริญเติบโต
การเจริญเติบโต คือ กระบวนการแบ่งเซลล์และขยายขนาดเซลล์ใหม่ของสิ่งมีชีวิต
โดยขบวนการทางธรรมชาติ ตามปกติการเจริญเติบโตใช้แสดงนัยอยู่ 2 ประการ คือการเพิ่มพูนขนาดและการสร้างส่วนใหม่ขึ้นมา
ปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชชั้นสูงนั้นมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม และปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ
แสงสว่าง ความชื้น ชนิดและปริมาณก๊าซต่างๆ ในอากาศและดิน
ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน โรคและแมลงศัตรูพืช ชนิดและปริมาณธาตุอาหาร กันเกราเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้า
ตั้งแต่งอกจากเมล็ดขึ้นมาเป็นต้นจนถึง ต้นที่มีอายุหลายปี
ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายด้านแต่อย่างไรก็ตาม กันเกราเป็นไม้ที่ชอบแสง พื้นที่ใดมีแสงรอดผ่านเพียง
10 เปอร์เซ็นต์ ต้นกล้าจะตายภายใน 8 เดือน
4.
ปัญหาด้านการลักลอบตัดไม้
ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับภัยคุกคามจากการลักลอบบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างรุนแรง
และนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก
ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศ และสร้างปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา เช่น
ปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อุทกภัย ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก จากการเกิดมหาอุทกภัยในปี
พ.ศ. 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร
ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและทำกิน
และนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกแผ้วถาง เผาป่า
ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้
นอกจากนี้ยังมีนายทุนและผู้มีอิทธิพลทำการจ้างวานให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกทำลายป่า
เพื่อตัดไม้มีค่าที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
และลักลอบส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมทั้งมีการว่าจ้างราษฎรให้บุกรุกจับจองที่ดิน
และเปลี่ยนมือนำไปออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปเป็นของนายทุน
เพื่อทำเป็นบ้านพักตากอากาศ โรงแรม และรีสอร์ท
ทำให้เกิดวงจรการบุกรุกทำลายป่าหมุนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าปัญหานี้เกิดจาก
นายทุนพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ ผู้รับสัมปทานทำไม้และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งการตัดไม้เพื่อเอาประโยชน์จากเนื้อไม้ทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย
ปริมาณป่าไม้ที่ถูกทำลายนี้นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเพิ่มของจำนวนประชากร ยิ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าใด ความต้องการในการใช้ไม้ก็เพิ่มมากขึ้น (biodiversity.forest.go.th,
2555) ปัจจุบันสถานการณ์จากการลักลอบตัดไม้ ยังคงมีมีอยู่เรื่อยๆ เพื่อนำไม้ไปใช้ประโยชน์
ใช้ไม้ในการปลูกสร้างบ้านเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรกรรม เครื่องเรือน และถ่านในการหุงต้ม
จากเหตุการณ์ที่หลายหน่วยงานเข้ายึดไม้แปรรูปชนิดต่างๆ ทั้งไม้พะยูง ไม้สัก
ไม้ประดู่ ไม้เหียง ไม้ตะเคียน ไม้นนทรี ไม้กระบาก ไม้หว้า และไม้กันเกรา รวมจำนวน
1,056 แผ่น ปริมาตรรวม 29.666 ลูกบาศก์เมตร
มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท (www.thairath.co.th, 2558) และเหตุการณ์ พบไม้กระยาเลย คือ ต้นไม้กันเกรา ไม้มะคอก ต้นแค ถูกบากบริเวณโคนต้น
เพื่อให้ยืนต้นตาย บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก (www.nationtv.tv,
2558) ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการตัดไม้แต่ละครั้ง
กันเกราจะเป็นพืชที่อยู่ในความต้องการของผู้ลักลอบตัดไม้เสมอส่งผลให้กันเกราลดปริมาณลงอย่างมาก
สรุป
ไม้กันเกรา เป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ใช้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์
พิธียกเสาเอกไทย ซึ่งเป็นความเชื่อหนึ่งของคนไทย นับตั้งแต่สมัยโบราณ มีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
เช่น ภาคใต้ เรียกตำเสา ทำเสา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก มันปลา ไม้กันเกราเป็นไม้เนื้อแข็ง
หนัก แมลงไม่ชอบกัดทำลาย ประชาชนจึงนิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน โดยใช้ทำเสา
วงกบประตู หน้าต่าง เครื่องเรือนต่างๆ เนื่องจากคุณสมบัติเนื้อไม้กันเกรามีสีเหลืองอ่อน
ละเอียด เลื่อย ผ่า ไสกบ ตบแต่งได้ง่าย อีกทั้งดอกของกันเกราให้กลิ่นหอม
และมีเรือนยอดในลักษณะเป็นไม้พุ่มเป็นรูปทรงกรวยสวยงาม
จึงมีผู้นิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้าน สวนหย่อม
ไม้กันเกราสามารถเจริญเติบโตได้ดีเกือบทุกสภาพพื้นที่ และเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้าในธรรมชาติ
ชอบที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำและมีแสงแดดจัด แต่ไม้กันเกรามีปัญหาด้านการงอกและการพักตัวของเมล็ด
ปัญหาด้านการเจริญเติบโต และปัญหาด้านการลักลอบตัดไม้ ทำให้ปัจจุบันไม้กันเกราในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่ากันเกราเพื่อการอนุรักษ์ให้มีมากขึ้น
และเพื่อเป็นป่าเศรษฐกิจตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น